ทิศทางการทำงานของมูลนิธิดวงใจพ่อ
สถานการณ์ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน กับทิศทางการทำงานของมูลนิธิดวงใจพ่อ
 
 
ย้อนหลังไป 25 ปี ที่ศูนย์พระจิตเจ้าได้เริ่มก่อตั้งขึ้นท่ามกลางชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า และลาหู่ ที่กระจัดกระจายกันกว่า 20 หมู่บ้านในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ณ ช่วงเวลานั้น กลิ่นไอของความเป็นชนเผ่าดั้งเดิมยังคงปรากฎให้เห็นเด่นชัด ผ่านบรรยากาศแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่บ้าน ไม่ว่าในยามดำเนินชีวิตประจำวันปกติ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ได้เชื่อมโยงรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีของเผ่าตนเข้ากับความเชื่อใหม่ทางคริสตศาสนาอย่างกลมกลืน

ภาพที่ชาวบ้านทั้งหญิงชายในชุดประจำเผ่าเต็มยศ ยกขบวนกันมาเต้นรำตามจังหวะดนตรี ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีประจำเผ่า ตั้งแต่หน้าประตูหมู่บ้าน อันทำให้ระยะทาง 2-3 กิโลเมตรที่คุณพ่อเดินเท้าเข้าหมู่บ้านนั้น ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงร่วมไปกับขบวนชาวบ้านที่มาต้อนรับนั้น ยังคงปราฏให้เห็นได้ ตามมาด้วยภาพสัตบุรุษที่พร้อมใจกันร่วมพิธีกรรมแน่นวัด ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก เยาวชน และคนชรา
 
 
25 ปีผ่านไป พร้อมกับกลิ่นไอของบรรยากาศหมู่บ้าน ชุมชนที่เคยอบอวลด้วยความรัก เอื้ออาทร และแบ่งปันเกื้อกูลกันค่อยๆ จางหายไป เสียงโทรทัศน์ได้เข้ามาแทนที่และดึงดูดเด็กเยาวชนไปจากความสนใจด้านศาสนา รวมทั้งได้แย่งชิงพื้นที่รอบกองไฟของครอบครัวที่ลูกหลานเคยนั่งล้อมวงฟังผู้เฒ่าสืบทอดวัฒนธรรมผ่านนิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ ให้กลับกลายมาเป็นการซึมซับวัฒนธรรมสมัยใหม่ วัฒนธรรมทุนนิยม บริโภคนิยมผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม เสียงโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นเสมือนเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ที่ทุกคนต้องมีคู่กาย รถกระบะ รถมอเตอร์ไซด์ กลายเป็นพาหนะคู่ใจที่พาออกไปสู่โลกภายนอกอย่างรวดเร็วทันใจ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นที่ปรารถนาของทุกคน พร้อมๆ กับอีกมากมายหลายสิ่งที่มากับโฆษณา และหนทางเดียวที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาตอบสนองความต้องการ ก็คือ “เงิน”
 
 
ยังไม่พูดถึงความจำเป็นที่ต้องการให้ลูกหลานได้รับการศึกษา พัฒนาชีวิตจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่ โดยเฉพาะในยุคซึ่งที่ดินทำกินถูกจำกัดเช่นทุกวันนี้ หรือความต้องการให้ลูกหลานออกไปทำงานส่งเงินมาช่วยจุนเจือครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระแสหลักที่ผลักให้สภาพครอบครัวของชาวบ้านในปัจจุบันส่วนใหญ่กระจัดกระจาย บ้างก็พ่อแม่ไปทำงานในเมือง ฝากลูกให้อยู่กับปู่ยาตายายที่หมู่บ้าน บ้างก็ลูกไปทำงานส่งเงินมาช่วยที่บ้าน

หรือส่งลูกไปเรียนหนังสือไกลบ้าน และจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่พ่อหรือแม่ไปทำงานต่างประเทศ หลาย ๆ ปีกว่าจะได้กลับบ้าน และหลายคนที่ตั้งหลักได้ในเมืองใหญ่ ก็หาโอกาสกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านได้ยาก ยิ่งเยาวชนยุคสู่อาเซียนนี้ที่กำลังอยู่ในกระแสเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ไปเรียนต่อและทำงานต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้คาดเดาอนาคตของชาวบ้านและชุมชนได้ยากยิ่ง

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชีวิตของชาวบ้านได้ก้าวเดินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ที่ดูเหมือนเป็นความก้าวหน้าและพัฒนา ผ่านการศึกษาที่ขยายโอกาสจนปัจจุบันพาเด็กเข้าสู่ระบบตั้งแต่ 3 ขวบกันเลยทีเดียว

ผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งของหน่วยงานศาสนา องค์กรเอกชน หรือของรัฐบาลมากมายที่หยิบยื่นความช่วยเหลือและการพัฒนาให้ หรือผ่านการผันตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองไทย ที่รัฐไทยได้มอบอำนาจการปกครองชุมชนของตนเองให้

ภายหลังจากท่าทีของรัฐในการมองชาวเขา ชนกลุ่มน้อยเปลี่ยนไปและได้มอบความเป็นพลเมืองไทยให้ ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ยังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ยังคงต้องดำเนินชีวิตอย่างไร้สิทธิพื้นฐานหลายประการ

ไม่เพียงแต่กระแสทุนนิยม บริโภคนิยมจะแทรกซึมเข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตชาวบ้าน และผลักดันให้ความต้องการ “เงิน” สำหรับบางคน อาจสำคัญกว่าศีลธรรมและชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังที่เห็นจากปัญหาการค้าขายยาเสพติดในชุมชนปัจจุบันแล้ว การพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้พรากเอาความรักความสามัคคีไปจากชุมชน เห็นได้ชัดในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ล้วนมีแต่การแย่งชิง แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย หรืออาจถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรงในหลายชุมชน

สถานการณ์เช่นนี้ เป็นสภาพชีวิตในชุมชนปัจจุบันที่ “มูลนิธิดวงใจพ่อ” ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อสานต่อกิจการของศูนย์คาทอลิกพระจิตเจ้าในด้านการศึกษาและสังคมท่ามกลางพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ กำลังร่วมเดินเคียงข้างกับพี่น้องในชุมชน และเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการก้าวเดินต่อไปในอนาคต

จึงขอนำบทสัมภาษณ์ของคุณพ่อเมาริสซิโอ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระจิตเจ้า แม่สรวย ที่ได้เดินร่วมทางกับสัตบุรุษเขตแม่สรวยมากว่าทศวรรษ ซึ่งท่านได้ช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและมองทางออกไว้อย่างชัดเจน อันถือเป็นทิศทางในการทำงานที่มูลนิธิดวงใจพ่อใช้เป็นแนวทางในการก้าวเดินต่อไป
 
 สถานการณ์ปัจจุบันอะไรที่พ่อคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุด
 
พ่อคิดว่าเป็นเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือด้านวิญญาณ

ถึงแม้ว่าสภาพด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าต่างๆ จะดีขึ้นมาก โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลไทยด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันชาวบ้านเรามีเงิน มีรถใช้มากขึ้น แต่ชีวิตที่งดงาม ใสบริสุทธิ์ การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะในหมู่บ้านแย่ลง วัฒนธรรมแห่งการให้ การรู้จักแบ่งปัน ช่วยกันเป็นหมู่คณะ ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในสถานการณ์ปัจจุบัน วัตถุนิยม บริโภคนิยม เป็นโรคร้ายที่ทำให้ชาวบ้านแย่ลง น่าเป็นห่วงคนรุ่นใหม่นี้ อย่างปัญหายาเสพติด ก็มาจากความต้องการเงินสดมากขึ้น เพื่อวิ่งตามทุนนิยม ไม่มีการตั้งหลัก ไม่พอเพียง

แน่นอนว่าชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเขาไม่สูญเสียสิ่งดี ๆ ที่สมัยก่อนมีอยู่โดยสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์มาก แต่ได้รับมาแต่ดั้งเดิม จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไปได้ โดยยังไม่ต้องพูดถึงอัตลักษณ์ของชนเผ่าด้วยซ้ำ น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลง และความสวยงามเหล่านี้จะเหลือเพียงอดีต จนหาแก่นแท้ของแต่ละวัฒนธรรมไม่พบ
 
ทำอย่างไรให้ชีวิตก้าวหน้า ทันสมัย และยังรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองได้ ? !
คำตอบคือ การช่วยชาวบ้าน ต้อง Realistic ไม่ใช่ Romantic ต้องช่วยชาวบ้านให้เป็นคนที่เติบโต สามารถแบ่งปันให้คนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นได้
 
อาจกล่าวได้ว่าเป้าหมายหรือความใฝ่ฝันสำหรับชาวบ้านก็คือ
- ให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง
- สามารถรับผิดชอบได้
- เป็นคนที่สามารถแบ่งปันกับคนอื่นได้ ดูแลตัวเอง และชาวบ้านคนอื่นได้ ไม่ใช่ตัวเองรอดก็จบ

ถ้าพวกเขาทำได้เช่นนี้ ก็จะสามารถรักษาสิ่งที่เขาเป็นได้ ไม่เช่นนั้นก็จะหายไปหมด !!
 
 บทบาทของศาสนา
 
 
มีบทบาทอย่างมากในการสอนตามรูปแบบของพระเยซู ให้คนเติบโตด้านความเชื่อ จึงจะสามารถรับผิดชอบคนอื่น เป็นเชื้อแป้งในสังคม เป็นรูปแบบที่จะดูแลคนอื่นได้

ปัจจุบันนี้ เมื่อเทียบกับ 20 – 25 ปีก่อน ดูเหมือนชาวบ้านไม่ค่อยต้องการเราในด้านภายนอก ทั้งด้านวัตถุหรือการศึกษา แต่ชาวบ้านต้องการภายใน ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำงานหนักขึ้นคือ ฝ่ายจิตใจ
 
 วิธีการสู่เป้าหมาย
 
ระดับศูนย์

ต้องทำให้ศูนย์เป็นสถานที่อบรมจริง ๆ ไม่ใช่ที่ให้กินข้าวและไปเรียนหนังสือเท่านั้น การให้การศึกษาต้องเป็นองค์รวม (Holistic) คือ พัฒนาทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ยังต้องช่วยให้เด็กวิเคราะห์ เพื่อรับสถานการณ์การท้าทายต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ไม่สามารถช่วยลูกในการวิเคราะห์ หาความหมายในสิ่งต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันได้

ดังนั้น ปัจจุบันศูนย์จึงมีความจำเป็นในการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น โดยให้ตรงเป้าหมายเดิม เป็นตัวของตัวเอง เอาความเชื่อเป็นหลัก ให้สามารถวิเคราะห์ มองดูนอกจากตัวเอง และสังคมด้วย
 
 
ระดับหมู่บ้าน

จำเป็นที่จะต้องเดินเคียงข้าง อยู่กับชาวบ้าน โดยการขึ้นหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ให้เวลากับเขาอย่างต่อเนื่อง อยู่กับเขาด้วยความจริงใจ ด้วยใจ นี่จะเป็นสิ่งที่เปิดทาง จากนั้นให้พระทรงดลใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่ละหมู่บ้าน แต่ละคน แต่ละครอบครัวอาจไม่เหมือนกัน

การอยู่กับชาวบ้าน จะต้องรับทั้งส่วนดีและสิ่งไม่ดีที่เราไม่อยากรับด้วย เช่นการค้าขายยาเสพติด ที่บางทีเหมือนรับยาก แต่เราต้องรับด้วย รับในแง่ไม่เหนื่อยในการสอน ไม่เหนื่อยในการเตือน ในการไปเยี่ยมเมื่อติดคุก หรือสนับสนุนครอบครัวที่เหลืออยู่
 
 

ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558

 
 
 
มูลนิธิดวงใจพ่อ องค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 902 อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โทร. 053-656-257
มูลนิธิดวงใจพ่อ จำนวนผู้เยี่ยมชม 165606 คน | ออนไลน์ขณะนี้ 3 คน
องค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 902
เลขที่ 47 หมู่ 17 บ้านขัวแคร่ ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57100
โทรศัพท์ 087-181-5174    E-mail : sarinkit@gmail.com
Copyright © 2011-2017 มูลนิธิดวงใจพ่อ. All Rights Reserved. Design by Chiangrai Enter Soft.